วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

ผู้มีสิทธินำทรัพย์สินออกจำนอง


ผู้มีสิทธินำทรัพย์สินออกจำนอง
LSPK
๑.      ใครสามารถนำทรัพย์สินออกให้จำนองได้?
            ตอบ    มาตรา ๗๐๕ บัญญัติว่า “การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่”  และในมาตรา ๗๐๖ บัญญัติว่า “บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด จะจำนองทรัพย์สินนั้นได้แต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นนั้น”  ดังนั้นสามารถพิจารณาได้ดังนี้

บุคคลที่สามารถนำทรัพย์สินออกจำนองได้มีดังนี้
v  หลักทั่วไป
·        เจ้าของทรัพย์สินโดยไม่มีเงื่อนไข
·        เจ้าของทรัพย์สินแบบมีเงื่อนไข
v  ข้อยกเว้น
·        เจ้าของทรัพย์สินประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
·        เจ้าของทรัพย์สินยินยอมให้ผู้อื่นแสดงตนเป็นเจ้าของ
·        กรณีเจ้าของรวมยินยอมให้เจ้าของรวมอีกคนหนึ่งแสดงตนว่าเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว
·        กรณีทรัพย์สินถูกครอบครองปรปักษ์

๒.     เจ้าของมีความหมายแค่ไหน ?
                   ความเป็นเจ้าของไม่ได้หมายความเฉพาะบุคคลที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเท่านั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องที่แล้วว่าที่ดินมีเพียงสิทธิครอบครองก็สามารถนำไปจำนองประกันการชำระหนี้ได้ ดังนี้ความเป็นเจ้าของจึงไม่ใช่แค่เพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์เท่านั้น แต่ย่อมหมายความรวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดิน น.ส.๓ ด้วยเพราะที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นผู้มีสิทธิครอบครองเป็นผู้มีสิทธิสูงสุด[1] และยังหมายความรวมเจ้าของทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์ติดกับที่ดินด้วย[2] เช่น เจ้าของสิทธิเหนือพื้นดิน
๓.      หากผู้จำนองไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงหรือไม่มีอำนาจนำออกจำนองจะเป็นอย่างไร ?
          หากผู้นำทรัพย์ออกจำนองไม่ใช่เจ้าของทรัพย์หรือไม่มีอำนาจนำออกจำนองเช่นไม่ได้มีการมอบอำนาจใด ๆ ย่อมส่งผลให้การจำนองนั้นไม่ผูกพันเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริง แม้ผู้จำนองจะรับจำนองไว้โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตามมาตรา ๑๒๙๙ ก็ตาม ดังนั้นเจ้าของที่ดินสามารถฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้[3] เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินจะประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เช่น ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ไม่กรอกข้อความพร้อมมอบเอกสารสิทธิต่าง ๆ ไปด้วยเช่น โฉนดที่ดิน ให้กับผู้อื่นโดยไม่ได้มีเจตนาให้นำไปจำนอง จากนั้นผู้รับก็นำไปจดทะเบียนจำนอง เช่นนี้ เจ้าของทรัพย์สินไม่อาจยกความบกพร่องของหนังสือมอบอำนาจมายันให้เป็นที่เสียหายแก่ผู้รับจำนองซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริตได้[4] หรือเจ้าของทรัพย์สินยินยอมให้ผู้อื่นแสดงตนว่าเป็นเจ้าของหรือยอมให้เจ้าของร่วมบางคนแสดงตนว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นแต่เพียงผู้เดียว[5]เช่น ยินยอมให้เจ้าของรวมใส่ชื่อของตนในโฉนดแต่เพียงผู้เดียว  กรณีครอบครองปรปักษ์ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนผู้มีชื่อทางทะเบียนก็สามารถจำทรัพย์สินดังกล่าวออกจำนองได้ ตามหลักมาตรา ๑๒๙๙ รายละเอียดค่อยโพสต์เรื่อย ๆ นะครับ วันนี้ขอแค่นี้ก่อนนะครับ


[1]ปัญญา  ถนอมรอด, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา : กรุงเทพมหานคร, ๒๕๕๔ หน้า ๒๒๗
[2] เพิ่งอ้าง,หน้าเดียวกัน
[3] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๑๕/๒๔๙๓ , คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๒๕/๒๕๑๔
[4] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๙๒๙/๒๕๔๒, ๑๐๗๒๑/๒๕๔๖,๕๒๘๐/๒๕๔๘ และอีกมากมาย
[5] [5] ปัญญา  ถนอมรอด, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา : กรุงเทพมหานคร, ๒๕๕๔ หน้า ๒๓๖

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ24 มกราคม 2556 เวลา 18:00

    ว้าว.... เนื้อหาน่าอ่าน แต่ทำให้เยอะ ๆ นะครับ

    ตอบลบ