วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

ป.วิ.อ. อำนาจสอบสวนความผิดอันยอมความได้


ป.วิ.อ. อำนาจสอบสวนความผิดอันยอมความได
บทความวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกานี้ แอดมินได้นำมาจาก เพจของ อ.ประยุทธ
"ทบทวนหลักกฏหมายกับอาจารย์ประยุทธ"  https://www.facebook.com/prayutlaw

พิจารณาศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาที่  680/2554

ข้อเท็จจริง


                1. อัยการโจทก์ฟ้องว่าระหว่างปี 2537 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2540 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยทั้งสามได้รับมอบการครอบครองเงิน 158,000 บาทของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของคณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองบ้านหนองแกโดยจำเลยทั้งสามมีอำนาจหน้าที่ในการเบิก่ายเงินจำนวนดังกล่าว ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามร่วมกันเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปโดยทุจริตขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 83, 352 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 158,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
                                1.1
คำขอให้คืนเงินของอัยการเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43
                                1.2
คดีนี้ นายอำเภอสอยดาวได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นและได้มีหนังสือมอบหมายให้นาย ป. ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ในฐานะประธานกรรมการกลางหมู่บ้านไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
                                1.3  
เงินจำนวน 158,000 บาทที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ายักยอกไปนั้นนำไปฝากไว้อยู่ที่ธนาคารแล้วจำเลยทั้งสามคดีนี้ไปเบิกถอนออกมา ประเด็นปัญหาจึงมีว่า ผู้ใดคือผู้เสียหายในการไปเบิกถอนเงินของจำเลย

                2.
 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก (ซึ่งเป็นความผิดฐานยักยอก) ให้จำคุกคนละ 3 ปี และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 158,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
                                2.1
 เมื่อศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลยเช่นนี้จำเลยสามารถอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
                                2.2
 ส่วนโจทก์นั้นไม่สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ไม่ได้ให้สิทธิโจทก์

                3.
 จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องซึ่งเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335(7) วรรคแรก ซึ่งเป็นข้อหาลักทรัพย์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปโดยให้ลงโทษจำคุก 3 ปีเท่าศาลชั้นต้น
                                3.1   
คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นไปตามหลักของ ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรกและถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยเพราะเป็นการแก้บทลงโทษจาก ป.อ. มาตรา 352 เป็นมาตรา 335(7) แต่ไม่ได้แก้โทษจำเลยจะฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดซึ่งเป็นฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 218 วรรคแรก หากจำเลยจะฎีกาข้อเท็จจริงดังกล่าวต้องมีผู้อนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ซึ่งจำเลยก็ได้ดำเนินการให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงแล้ว ฎีกาของจำเลยจึงไม่ต้องห้าม
                                3.2
  จะเห็นได้ว่า เดิมโจทก์ได้ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 352 (ข้อหายักยอก) แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยผิดตาม ป.อ. มาตรา 335(7) (ลักทรัพย์) เป็นอำนาจที่ศาลอุทธรณ์สามารถกระทำได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสาม ดังนั้นศาลจึงอุทธรณ์ลงโทษได้

                4.
 ในชั้นพิจารณาของศาลฎีกามีประเด็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่าเงินที่หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองบ้านหนองแกนำมาฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทยย่อมตกเป็นกรรมสิทธิของธนาคารผู้รับฝากโดยธนาคารมีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าของบัญชีตามเงื่อนไขตามที่ตกลงกันให้ครบถ้วนเท่านั้นทั้งจำเลยทั้งสามไม่ได้รับมอบการครอบครองและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเงินดังกล่าวแต่อย่างใด การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงลายมือชื่อเพื่อถอนเงินจากธนาคารเป็นไปโดยพลการมิได้รับความเห็นชอบหรือความยินยอมจากคณะกรรมการกลางหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้ดูแลบริหารการใช้เงินนั้น เมื่อจำเลยทั้งสามเอาเงินดังกล่าวไปโดยทุจริตจำเลยทั้งสามย่อมมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์

                5.
 นอกจากนี้ ศาลฎีกายังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าเมื่อเงินที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลักไปเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารผู้รับฝากจึงต้องให้จำเลยทั้งสามคืนเงินแก่เจ้าของเมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์แล้วก็ไม่ต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่าการร้องทุกข์ชอบหรือไม่เนื่องจากฐานลักทรัพย์มิใช่ความผิดอันยอมความได้พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้

หมายเหตุ
ให้พิจารณาศึกษาเปรียบเทียบจากฎีกาต่อไปนี้
          ฎีกา 1104/2545   จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย ตำแหน่งพนักงานธนากรมีหน้าที่รับฝากและถอนเงินให้ลูกค้า แต่เงินที่ลูกค้านำฝากเข้าบัญชีของลูกค้าไว้กับผู้เสียหายเป็นของผู้เสียหายและอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย มิได้อยู่ในความครอบครองของจำเลย การที่จำเลยใช้ใบถอนเงินหรือแก้ไขบัญชีเงินฝากของลูกค้าผู้ฝากต่างกรรมต่างวาระในรูปแบบทางเอกสารเป็นกลวิธีในการถอนเงินของผู้เสียหายจนเป็นผลสำเร็จแล้วทุจริตนำเงินนั้นไป จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์มิใช่ยักยอก
จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษน้อยลงและรอการลงโทษ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเนื่องจากเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาด้วยว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษแก่จำเลยนั้นเหมาะสมหรือไม่เพียงใด และมีเหตุรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่

          ฎีกา 6892/2542   การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการ โดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวงการที่จำเลยเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทนแล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายจึงมิใช่เอาโคมไฟตั้งโต๊ะไปโดยพลการโดยทุจริต อันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยโดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          ฎีกา 4345/2545   จำเลยเป็นลูกจ้างธนาคารโจทก์ร่วมในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วน มีหน้าที่ควบคุมดูแลงานด้านกู้เงินระยะสั้นโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้อาศัยโอกาสในหน้าที่ของจำเลยทำเอกสารใบถอนเงินของโจทก์ร่วมระบุโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าอันเป็นเท็จ และโอนเงินของโจทก์ร่วมเข้าบัญชีของ ส. พวกของจำเลย หลังจากนั้นก็ร่วมกับพวกเบิกถอนเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนกับพวก ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมยอมให้มีการโอนเงินไปตามเอกสารใบถอนเงินที่จำเลยทำขึ้นนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับข้อความในเอกสารว่าเป็นจริงหรือเท็จ แต่เป็นการโอนเงินไปเพราะเอกสารใบถอนเงินที่จำเลยได้รับมอบอำนาจให้กระทำมีรายการครบถ้วนและมีลายมือชื่อกับรหัสประจำตัวของจำเลยซึ่งหากจำเลยไม่กระทำด้วยวิธีการดังกล่าว ย่อมไม่อาจเอาเงินออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมได้ ดังนั้น การที่อนุมัติให้โอนเงินออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมจึงมิได้เกิดจากการที่จำเลยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความในเอกสารอันเป็นเท็จและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วม แต่เป็นกรณีที่จำเลยทำเอกสารใบถอนเงินโดยมีข้อความอันเป็นเท็จแล้วเสนอไปตามขั้นตอนเพื่อให้มีการอนุมัติโอนเงินตามเอกสารนั้น อันเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยเอาเงินของโจทก์ร่วมออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมโดยทุจริตได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่ความผิดฐานฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง

          ฎีกา 2386/2541   สำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตามแต่เงินผ้าป่า 150,000 บาท เป็นเงินที่ชาวบ้านนำไปทอดให้สำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดซึ่งพระภิกษุ ป. เป็นเจ้าคณะสงฆ์อยู่ในขณะนั้น พระภิกษุ ป. จึงมีหน้าที่ดูแลเงินผ้าป่าดังกล่าว เมื่อพระภิกษุ ป. มอบให้พระภิกษุ ข.เป็นผู้เลือกชาวบ้านเป็นกรรมการดูแลรับผิดชอบจำนวนเงินนั้นส.ง.ร. และจำเลยได้รับเลือกเป็นกรรมการและร่วมกันรับมอบเงินจำนวนดังกล่าวไปเก็บรักษา หากจำนวนเงินดังกล่าวสูญหาย กรรมการทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดต่อสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด แม้กรรมการแต่ละคนจะได้รับเงินเพียงบางส่วนไปเก็บรักษาก็เป็นการแบ่งความรับผิดชอบกันเองภายหลังจากรับเงินทั้งจำนวนมาแล้ว การที่จำเลยรับมอบเงินจำนวน40,000 บาท ไปเก็บรักษาแล้วยักยอกเงินจำนวนนั้นไปส.ง.ร. จึงเป็นผู้เสียหายในอันที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ โดยถือว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ของสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดซึ่งอยู่ในความครอบครองของส.ง.ร. และจำเลย แม้หนังสือมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์จะไม่ได้ปิดแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เนื่องจาก ประมวลรัษฎากรฯมาตรา 118 ห้ามมิให้รับฟังหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ปิดแสตมป์เป็นพยานหลักฐานเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น มิได้ห้ามมิให้รับฟังในคดีอาญาด้วย ทั้งการมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด

ข้อสังเกตเพิ่มเติม

            จากฎีกา 680/2554 พฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้ จำเลยทั้งสามร่วมกันลงชื่อในแบบการเบิกถอนเงินของธนาคารหลังจากนั้นก็นำไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ธนาคารและเจ้าหน้าที่ก็มอบเงินตามจำนวนที่จำเลยขอเบิกนำมาสู่ประเด็นโต้เถียงทางกฎหมายว่า จำเลยมีความผิดยักยอกหรือลักทรัพย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น