บันทึกคำบรรยาย
วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาคสี่
วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา
และการบังคับตามคำสั่ง
บรรยายโดย ศาสตราจารย์(พิเศษ) สมชาย จุลนิติ์
จัดพิมพ์โดย LSPK
คำบรรยายเนติบัณฑิตยสภา ภาคสอง สมัย ๖๕
บรรยายครั้งที่
๑
วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา
ลักษณะ
๑ วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา
หนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมี
๓ กรณีคือ
๑.
หนี้เงิน
๒.
หนี้ให้กระทำการหรือละเว้นการกระทำ เช่นการฟ้องขับไล่
๓.
ให้แสดงเจตนาทำนิติกรรม เช่น หนี้ฟ้องให้โอนคดีให้
ตัวอย่าง
หนี้เงิน
นาย ก เป็นโจทก์ฟ้อง นาย ข เรียกเงิน
๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท นาย ก ย่อมตั้งความหวังว่า
หากชนะคดีก็จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถบังคับคดีเอากับ นาย ข.
ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ หากนาย ข. ไม่ยอมชำระ นาย ก.
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถบังคับคดีได้ อาจด้วยการยึดทรัพย์
หรืออายัดสิทธิเรียกร้อง
แต่หากนาย ก. ทราบว่า นาย ข.
มีที่ดินเพียงแปลงเดียว ย่อมรู้ว่าหากชนะคดีก็จะบังคับคดีที่ดินแปลงนั้นจากนาย ข.
ได้ แต่ในทางกลับกันนาย ข. ย่อมคิดได้เหมือนกันว่า
หากแพ้คดีตนย่อมถูกยึดทรัพย์บังคับคดีได้ ดังนั้นนาย ข. ย่อมต้องกระทำการยักย้าย
จำหน่ายจ่ายโอนที่ดินเพื่อไม่ให้ตนเองมีที่ดินแปลงดังกล่าว
เพื่อให้เมื่อตนแพ้คดีจะได้ไม่ถูกบังคับคดี และหากนาย ข. ทำเช่นนั้นจริง ๆ
เมื่อนาย ก. ชนะคดีก็ไม่สามารถบังคับคดีได้
ดังนั้น
กฎหมายจึงบัญญัติวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา คือขณะดำเนินคดีนาย ก. สามารถขอให้ศาลยึดที่ดินแปลงดังกล่าวของนาย
ข. ไว้ก่อนได้ ซึ่งเมื่อคดีเสร็จสิ้นลงก็สามารถบังคับคดีได้
วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา
(มาตรา ๒๕๓ – ๒๗๐)
วิธีการชั่วคราวมีการคุ้มครองคู่ความด้วยกัน
๓ ประการคือ
๑.
จำเลยของคุ้มครองชั่วคราว (มาตรา ๒๕๓)
๒.
โจทก์ขอคุ้มครองชั่วคราว (มาตรา ๒๕๔)
๓.
คู่ความขอคุ้มครองชั่วคราวเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ (มาตรา ๒๖๔)
หลักการเบื้องต้น
การฟ้องคดีจำเลยย่อมต้องใช้ค่าใช้จ่าย เช่น
ค่าจ้างทนาย ค่าอ้างพยาน เช่นนาย ก. ฟ้องนาย ข. ให้ชำระเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ค่าขึ้นศาลนาย ก. ต้องเสียค่าขึ้นศาล ต้องเสียค่าทนาย
เมื่อมีการสืบพยานก็ต้องจ่ายค่าอ้างพยาน ค่าพาหนะพยาน
สมมติรวมโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๘๐,๐๐๐ บาท เงินจำนวน ๘๐,๐๐๐
บาทถือเป็นค่าฤชาธรรมเนียม ขณะเดียวกันทางจำเลย
ต้องยื่นคำให้การแม้ไม่ต้องเสียค่ายื่นคำให้การ แต่การเขียนคำให้การจำเลยย่อมต้องมีการจ้างทนาย
และระหว่างสืบพยานย่อมต้องเสียค่าพาหนะ เช่นนี้จำเลยย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน
หากศาลตัดสินให้จำเลยชนะคดี
พิพากษายกฟ้อง แม้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจำเลยจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด
แต่ในความเป็นจริงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นนั้นจำเลยย่อมต้องชำระไปแล้ว
ดังนั้นเมื่อคดีแพ่งมีค่าใช้จ่ายการที่จะให้ศาลพิพากษาให้จำเลยต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษา
หรือแม้การพิพากษายกฟ้องก็ตาม
กฎหมายจึงมีการบัญญัติเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมไว้ในกฎหมายด้วย (มาตรา ๑๔๙)
มาตรา 149 ค่าฤชาธรรมเนียม ได้แก่
ค่าธรรมเนียมศาล ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง
และค่าเช่าที่พักของพยาน ผู้เชี่ยวชาญ ล่าม และเจ้าพนักงานศาล ค่าทนายความ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ตลอดจนค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่น
ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ
ดังนั้นการบัญญัติเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมมีจุดประสงค์เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความนอกเหนือจากเนื้อหาตามคดี
เช่น โจทก์ชนะคดีตามเนื้อหาคดี จำเลยย่อมต้องชำระเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่เงินอีกจำนวนหนึ่งที่โจทก์ต้องเสียไประหว่างดำเนินคดีจำนวน
๘๐,๐๐๐ บาท จำเลยก็ต้องเยียวให้โจทก์ด้วย
ดังนี้เมื่อศาลตัดสินศาลต้องสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมด้วย (มาตรา ๑๔๑ วรรคแรก
(๕))
กล่าวคือกฎหมายประสงค์จะเยียวยาคู่ความฝ่ายที่ชนะคดีให้ได้รับการเยียวยาเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องเสียไปจากการเป็นความกัน
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยก็ตาม
มาตรา 161 ภายใต้บังคับบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้
ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิด ในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง
แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้น
รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียม ซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ
โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี
คดีที่ไม่มีข้อพิพาทให้ฝ่ายเริ่มคดีเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียม
คดีที่ไม่มีข้อพิพาทให้ฝ่ายเริ่มคดีเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียม
ดังนั้นคำพิพากษาของศาลตามตัวอย่างข้างต้นหากโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีจะเป็นดังนี้
๑.
ส่วนเนื้อหาคดี
: ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๒.
ส่วนค่าฤชาธรรมเนียม
: และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สมมติจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท (บางทีอาจกำหนดเป็นค่าทนายความแยกออกมา
ให้ดูตาราง ๖ ท้ายประมวล เช่นกรณีตัวอย่างหากโจทก์จ้างทนายมา ๑๐๐,๐๐๐ บาท
แต่ตามตาราง ๖ ท้ายวิแพ่ง อัตราร้อยละห้าคือ ห้าหมื่นบาท(ทุนทรัพย์หนึ่งล้าน)
ไม่ใช่หนึ่งแสนบาท แต่ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับได้นะครับ )
ดังนั้นคดีนี้หนี้ตามคำพิพากษาคือ
๑,๐๘๐,๐๐๐ บาท
กรณีที่เมื่อมีคำพิพากษาแล้วจำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
คือกรณีที่แม้ไม่มีการฟ้องแย้งใด
ๆ จำเลยอาจเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้หากศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแก่จำเลย
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ มาตรา ๒๕๓ และ มาตรา ๒๕๓ ทวิ การคุ้มครองจำเลยก่อนพิพากษา
การคุ้มครองจำเลยก่อนพิพากษา
มาตรา 253 ถ้าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงาน อยู่ในราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ ในราชอาณาจักร หรือถ้าเป็นที่เชื่อได้ว่า เมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะ หลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย จำเลยอาจ ยื่นคำ ร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด
ๆ ก่อนพิพากษาขอให้ศาลมีคำสั่ง ให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่า ฤชาธรรม เนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้
ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า มีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุเป็นที่ เชื่อได้
แล้วแต่กรณี ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือ หาประกันมาให้ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนด
โดย จะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ
ตามที่เห็นสมควรก็ได้
ถ้าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามวรรคสอง ให้ศาลมี คำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
เว้นแต่จำเลยจะขอให้ ดำเนินการพิจารณาต่อไปหรือมีการอุทธรณ์คำสั่งศาลตามวรรคสอง
แยกพิจารณาได้ดังนี้
๑.
ถ้าจำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่มีสำนักทำการงาน
๒.
ถ้าจำเลยแพ้คดีแล้ว
ขอเน้นย้ำว่า
เพียงเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งจำเลยก็ย่อมขอคุ้มครองชั่วคราวได้แล้ว
ไม่จำเป็นต้องเข้าทั้งสองลักษณะ
ลักษณะ ๑ จำเลยไม่มีภูมิลำเนาฯและไม่มีทรัพย์สิน
ตัวอย่างศึกษา
โจทก์เป็นชาวต่างประเทศ
ไม่มีสำนักทำการงานในประเทศไทยฟ้องจำเลยในประเทศไทย เรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญา
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยต่อสู้คดีเมื่อลักษณะคดีเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ทนายความย่อมต้องเรียกค่าวิชาชีพจำนวนมาก
จำเลยจึงเล็งเห็นได้ว่าหากชนะคดีคือศาลยกฟ้องศาลต้องพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแก่ตน
แต่หากโจทก์ไม่ยอมชำระค่าฤชาธรรมเนียมจะบังคับคดีอย่างไร
เมื่อเขาไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้
จึงเลือกใช้วิธีการชั่วคราวตามมาตรา ๒๕๓ ให้โจทก์วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมไว้
ส่วนใหญ่จำเลยมักยื่นคำขอมาพร้อมกับคำให้การ
ศาลก็จะไต่สวน (ไม่ใช่การไต่สวนฝ่ายเดียว) ดังนั้นจึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา ๒๑ (๒),(๔)
ศาลต้องส่งสำเนาให้โจทก์ หากมีการคัดค้านต้องมีการไต่สวน
หากไต่สวนแล้วฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีภูมิลำเนา ฯ
และไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้ ศาลก็จะสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาล สังเกต
ขณะไต่สวนคำร้องจำเลยยังไม่ทราบว่าการดำเนินคดีจะมีค่าใช่จ่ายเท่าไร
ดังนั้นศาลจึงใช้วิธีการประมาณ
หากโจทก์ไม่ยอมวางเงิน โจทก์สามารถอุทธรณ์คำสั่งให้วางเงินได้หรือไม่
?
คำสั่งดังกล่าวเป็น คำสั่งระหว่างพิจารณา
ตามมาตรา ๒๒๖ ดังนั้น
๑.
ห้ามอุทธรณ์
๒.
ต้องโต้แย้ง
คำสั่งให้โจทก์วางเงินตามมาตรา
๒๕๓ เป็นคำสั่งตามมาตรา ๒๒๘ วรรคหนึ่ง (๒) , วรรคสอง
โดยหลัก
วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาทั้งสามกรณีเป็นคำสั่งตามมาตรา
๒๒๘ (๒) ดังนั้นจึงสามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ตามมาตรา ๒๒๘ อุทธรณ์-ฎีกาได้ทันที(อุทธรณ์-ฎีกาได้เลยโดยไม่ต้องโต้แย้งก่อน)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๑๑๐๖/๒๕๓๐ คำสั่งศาลให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและ
ค่าใช้จ่ายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 253
เป็นคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการ
พิจารณาตามป.วิ.พ. มาตรา 228(2) ย่อมอุทธรณ์ฎีกาได้โดยไม่จำต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก่อน
ข้อยกเว้น
(ดูมาตรา ๒๖๗)
และในอีกหลายที่
ลักษณะ ๒ พิสูจน์ได้ว่า...
(ในทางปฏิบัติศาลมักไม่ให้---ไม่ขออธิบาย)
วีธีการยื่นคำร้อง
๑.
ก่อนศาลพิพากษา
๒.
วางเงินประกัน
ศาลที่มีอำนาจสั่งคำร้อง
ศาลที่มีอำนาจสั่งคำร้องคือศาลชั้นต้น
และสามารถอุทธรณ์โต้แย้งได้ทันทีตามมาตรา ๒๒๘ (๒)
และหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามจะถูกจำหน่ายคดีตามวรรคท้ายของมาตรา ๒๕๓
(หากโจทก์ไม่วางเงินและไม่อุทธรณ์ศาลต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
สามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ สำหรับค่าขึ้นศาลกฎหมายให้ศาลมีดุลยพินิจคืนค่าฤชาธรรมเนียม
ดูมาตรา ๑๓๒ (๒) )
เว้นแต่จำเลยจะให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป
?
หากจำเลยให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไป
ศาลก็ต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป เป็นเอกสิทธิ์ของจำเลย
เหตุที่อาจเกิดได้
เช่นคดีนั้นมีพยานปากเอกหนึ่งคนซึ่งหากโจทก์นำมาเบิกความสามารถชนะคดีได้อย่างแน่นอน
แต่ปรากฏว่าโจทก์นำมาไม่ได้และแนวโน้มคือว่าหากโจทก์นำพยานปากดังกล่าวมาเบิกความไม่ได้ก็จะแพ้คดีอย่างแน่นอน
ทางปฏิบัติโจทก์จึงขอเลื่อนคดี ศาลอาจให้เลื่อนได้ แต่เนื่องจากจำเลยรู้ว่าเป็นเพราะเหตุนำพยานมาไม่ได้
จึงขอให้โจทก์วางเงินหากไม่วางก็จะจำหน่ายคดี
เมื่อเป็นอย่างนั้นโจทก์อาจเห็นว่าคดียังไม่ขาดอายุความยังสามารถฟ้องใหม่ได้
ดังนั้นให้ศาลจำหน่ายคดีออกไป เพื่อยืดเวลาในการนำพยานมาเบิกความได้
แต่ขณะเดียวกันจำเลยก็รู้ว่าหากมีการจำหน่ายคดีโจทก์สามารถฟ้องใหม่ได้
และเพื่อเป็นการชนะคดีจำเลยจึงขอให้โจทก์ดำเนินคดีต่อไปเพื่อให้ตนชนะคดีได้
กรณีศึกษา
คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาศาลชั้นต้น
จำเลยขอคุ้มครองชั่วคราวตามมาตรา ๒๕๓ ศาลไต่สวนแล้วยกคำขอของจำเลย จำเลยจึงอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้น พิพากษายืนตาม จำเลยจึงฎีกาคำสั่งดังกล่าว ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้โจทก์วางเงินค่าขึ้นศาล
แต่พอศาลฎีกาตัดสินปรากฏว่าศาลชั้นต้นตัดสินในเนื้อหาคดีให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ไปแล้ว
และอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาให้คู่ความฟังขณะที่อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว
โจทก์จึงไม่ยอมวางเงิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๑๔๘๗/๒๕๒๙ ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253ย่อมมีผลอยู่จนคดีถึงที่สุด แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดโจทก์ก็ต้องวางเงินตามที่ศาลกำหนด
สรุปได้ว่า
คำสั่งศาลขอคุ้มครองชั่วคราว
หากปรากฏว่าคุ้มครองชั่วคราวคำสั่งดังกล่าวจะมีผลจนกว่าคำสั่งในเนื้อหาจะถึงที่สุด
แนวคิด
หากคดียังไม่ถึงที่สุดจำเลยอาจอุทธรณ์-ฎีกาต่อไปได้
ผลแห่งคดีจึงอาจเปลี่ยนแปลงได้
สิทธิตามกฎหมายที่จำเลยจะขอคุ้มครองชั่วคราว
๑.
มาตรา ๒๕๓ คุ้มครองในศาลชั้นต้น
๒.
มาตรา ๒๕๒ ทวิ คุ้มครองจำเลยในชั้นอุทธรณ์-ฎีกา แนวคิด : คดีแพ่งมีค่าฤชาธรรมเนียมในทุกชั้นศาล
หมายเหตุ : สรุปคำบรรยายนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแจกจ่ายให้กับนักศึกษาวิชากฎหมายที่ได้ให้ความสนใจกับบล็อกนี้
เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนไม่ว่าในชั้นปริญญาตรี ชั้นเนติบัณฑิต
หรือแม้แต่การเตรียมตัวเพื่อสอบสนามอัยการหรือผู้พิพากษา หากสนใจสรุปคำบรรยายฉบับเต็มกรุณาติดต่อโดยตรงได้ที่
lerdsak.p@hotmail.com หรือโทร 0872948393 หรือดาวน์โหลดได้ lspklawcenter.blogspot.com
จัดทำโดย LSPK
สามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ที่ : http://www.mediafire.com/view/?2n6u2xtihlgk2o7
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น