วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อ.ธานี สิงหนาท วิ.อาญา 3-4 26/1/2013


บันทึกคำบรรยายเนติบัณฑิตยสภา ภาคสอง สมัย ๖๕
วิชา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค ๓-๔ (ค่ำ)
บรรยายโดย อ.ธานี  สิงหนาท
๒๖ มกราคม ๒๕๕๖  (ตอนที่ ๑)
การพิจารณา (มาตรา ๑๗๒ – ๑๘๑)
เกริ่นนำ
            ลักษณะพิเศษของการพิจารณาคดีอาญา คือ กฎหมายมุ่งให้ความคุ้มครองสิทธิของจำเลยมากว่าโจทก์ซึ่งต่างกับกรณีของคดีแพ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิของทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
ระบบพิจารณา
๑.      การพิจารณาต้องกระทำในศาลโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย
๒.      ก่อนศาลเริ่มพิจารณาคดีต้องจัดหาทนายความให้จำเลยตามกฎหมาย
๓.      ศาลต้องอ่านฟ้องให้จำเลยเข้าใจและหากจำเลยรับสารภาพซึ่งเป็นโทษที่มีอัตราโทษสูงโจทก์ต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์กระทำความผิดจริง
            ลักษณะพิเศษของการสืบพยานในคดีอาญาคือ โจทก์นำสืบก่อน และ จำเลยนำสืบหลัง (ไม่ว่าภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่ใคร) และตามมาตรา ๒๒๘ ศาลอาจสืบพยานเพิ่มเติมได้  (เป็นระบบกล่าวหาผสมกับระบบไต่สวน) หลังจากสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จก็จะเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี ซึ่งกฎหมายบังคับให้ศาลต้องตัดสินคดีภายในสามวันหากไม่เสร็จต้องจดแสดงเหตุเอาไว้ (ต้องการให้พิจารณาโดยเร็ว)
            การจะลงโทษจำเลยศาลต้องฟังโดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริง (ตามมาตรา ๒๒๗) จึงจะลงโทษจำเลยได้ หากมีข้อสงสัยประการหนึ่งประการใดศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์
เหตุแห่งการยกฟ้องโจทก์ (ตามมาตรา ๑๘๕)
            มาตรา ๑๘๕ ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยตัวจำเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้
๑.      จำเลยมิได้กระทำความผิด
๒.      การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด
๓.      คดีขาดอายุความ
๔.      มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ต้องรับโทษ
          อำนาจในการยกฟ้องอีกมาตรา คือ มาตรา ๑๙๒ เช่นการแตกต่างกันในสาระสำคัญศาลต้องยกฟ้องโจทก์ ตามวรรคสอง หรือเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ตามวรรคสี่
เริ่มการศึกษา
            การพิจารณาต้องกระทำในศาล อาจารย์ธานี ไม่อธิบายโดยให้เหตุผลว่าจะมีรายละเอียดในกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน
การพิจารณาต้องกระทำต่อหน้าจำเลย
          มาตรา ๑๗๒  การพิจารณาคดีและสืบพยานในศาล ให้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ….
วัตถุประสงค์
·         เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสเผชิญหน้ากับพยาน ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านคำพยานของพยานปากนั้น ๆ  เพราะจำเลยย่อมทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไรและให้ทนายความซักค้านประเด็นนั้น ๆ ได้
·         เหตุการณ์ที่ฟ้องนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ได้ฟ้องมาแล้วหรือไม่ คือให้จำเลยมีสิทธิโต้แย้งว่าฟ้องดังกล่าวเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่
            การสืบพยานรวมถึงการสืบพยานโจทก์และสืบพยานจำเลยด้วย ( ในคดีอาญาจำเลยเป็นประธานของคดี หากจำเลยไม่มาศาลจะพิจารณาคดีไม่ได้ ศาลต้องสั่งเลื่อนคดีออกไป แต่หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยจงใจหลบหนีศาลต้องออกหมายจับจำเลยจากนั้นก็เลื่อนไปนัดหน้า และหากยังจับไม่ได้ก็ต้องจำหน่ายคดีชั่วคราว เพราะจะพิจารณาคดีลับหลังจำเลยไม่ได้ และอายุความก็เริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยหลบหนีไป
สิ่งที่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยนั้นคือ
๑.      การสืบพยาน
๒.      การพิจารณา[1]
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๑/๒๕๔๙ การพิจารณาและสืบพยานในศาลไม่ว่าชั้นสืบพยานโจทก์ พยานโจทก์ร่วม หรือพยานจำเลยจะต้องทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และมาตรา 172 ทวิ
            ในวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนบริษัทจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวไม่มาศาล และทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดลับหลังจำเลยทั้ง สองได้อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยให้ทนายจำเลยทั้งสองแถลงรับข้อ เท็จจริง โจทก์แถลงหมดพยาน และโจทก์ร่วมแถลงไม่ติดใจสืบพยาน  จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๘/๒๕๕๑ การพิจารณาและสืบพยานในศาลไม่ว่าชั้นสืบพยานโจทก์ หรือพยานจำเลยจะต้องทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร จะอนุญาตให้จำเลยไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยานนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และมาตรา 172 ทวิ
            ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล และทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีแล้ว ศาลชั้นต้นไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดลับหลังจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยให้ทนายจำเลยทั้งสองแถลงรับข้อ เท็จจริงว่า ส. เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ของกลางผลการตรวจพิสูจน์เป็นเมทแอมเฟตามีนตามรายงานผลการ ตรวจพิสูจน์ ที่โจทก์ส่งศาลและโจทก์แถลงไม่สืบพยานโจทก์ปากดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มาศาลและให้การปฏิเสธไม่มีโอกาสโต้แย้งหรือต่อสู้คดีได้ว่ายาเสพติด ให้โทษของกลางมิใช่เมทแอมเฟตามีนตามแบบรายงานผลการตรวจพิสูจน์อันจะเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง
ข้อเท็จจริง
๑.      พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ
๒.      จำเลยในคดีมีสองคนซึ่งทั้งสองคนตั้งทนายความคนเดียวกัน
๓.      ศาลถามจำเลยแต่จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ปรากฏว่าอัยการโจทก์มาศาล จำเลยที่สองและทนายจำเลยทั้งสองมาศาล แต่ทนายจำเลยที่ ๑ ไม่มาศาลโดยทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ป่วย อัยการโจทก์ไม่คัดค้าน แต่เนื่องจากมีพยานผู้เชี่ยวชาญได้มาศาลและได้ทำรายว่ายาเสพติดนั้นเป็นเมทแอมเฟตามีน อัยการจึงให้ทนายความโจทก์แถลงรับว่าพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิสูจน์และปรากฏว่าเป็นเมทแอมเฟตามีน อัยการก็จะไม่ติดใจสืบพยาน
๔.      ทนายความจำเลยทั้งสองแถลงรับ อัยการจึงยื่นส่งพยานต่อศาล
            ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงเป็นการพิจารณาดังนั้นจะพิจารณาลับหลังจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องให้ศาลสืบพยานนั้นใหม่
ดังนั้น  จำเลย หมายความเฉพาะตัวจำเลยจริง ๆ เท่านั้น

สามารถนำบันทึกการเบิกความพยานในคดีอื่นมาพิจารณาได้หรือไม่?
            มาตรา ๒๒๖/๕ ในชั้นพิจารณาหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือบันทึกคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่นประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้
            จะต้องเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรเท่านั้น เช่น พยานที่ได้เบิกความไว้แล้วนั้นตายไปแล้ว การบันทึกการสืบพยานเด็กในชั้นสอบสวน เป็นต้น
ข้อยกเว้นการเบิกความต่อหน้าจำเลย
มาตรา ๑๗๒ ทวิ
            มาตรา ๑๗๒ ทวิ ภายหลังที่ศาลได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๗๒ วรรค ๒ แล้ว เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ในกรณีดังต่อไปนี้
          (๑) ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสิบปี จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยาน
            (๒) ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลพอใจตามคำแถลงของโจทก์ว่าการพิจารณาและการสืบพยานตามที่โจทก์ขอให้กระทำไม่เกี่ยวแก่จำเลยคนใด ศาลจะพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยคนนั้นก็ได้
          (๓) ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลเห็นสมควรจะพิจารณาและสืบพยานจำเลยคนหนึ่ง ๆ ลับหลังจำเลยคนอื่นก็ได้
          ในคดีที่ศาลพิจารณาและสืบพยานตาม (๒) หรือ (๓) ลับหลังจำเลยคนใด ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้ศาลรับฟังการพิจารณาและการสืบพยานที่กระทำลับหลังนั้นเป็นผลเสียหายแก่จำเลยคนนั้น
ข้อสังเกต
-          ตาม (๑) เป็นคดีเล็กน้อย ที่ต้องมีองค์ประกอบสององค์ประกอบด้วยกันดังนี้
·         เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน ๑๐ ปี หรือปรับสถานเดียว และ
·         จำเลยต้องมีทนายความ และ
·         ได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยาน
-          ตาม (๒) จำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์
          คดีที่มีจำเลยหลายคน หากไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ไม่มาศาลก็พิจารณาลับหลังจำเลยคนนั้นได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงอัตราโทษ เพราะไม่มีความเสียหายใด ๆ ต่อจำเลยนั้น ๆ และตามวรรคท้ายก็จะรับฟังให้เป็นผลเสียหายแก่จำเลยไม่ได้เช่นเดียวกัน
-          ตาม (๓) จำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย
           คดีที่มีจำเลยหลายคน มีจำเลยบางคนไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย ศาลอาจให้สืบพยานจำเลยคนใด ๆ  ลับหลังจำเลยนั้น  ๆ ได้ และตามวรรคท้ายก็ห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นผลเสียหายแก่จำเลยนั้น ๆ ด้วย

มาตรา ๑๘๐  สืบพยานลับหลังจำเลย กรณีจำเลยขัดขวางการพิจารณา

            มาตรา ๑๘๐ ให้นำบทบัญญัติเรื่องรักษาความเรียบร้อยในศาลในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีอาญาโดยอนุโลม แต่ห้ามมิให้จำเลยออกจากห้องพิจารณา เว้นแต่จำเลยขัดขวางการพิจารณา

มาตรา ๒๓๐ การสืบพยานประเด็น

มาตรา ๒๓๐ เมื่อ คู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอหรือเมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร ศาลอาจเดินเผชิญสืบพยานหลักฐาน หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาสืบที่ศาลนั้น และการสืบพยานหลักฐานโดยวิธีอื่นไม่สามารถกระทำได้ ศาลมีอำนาจส่งประเด็นให้ศาลอื่นสืบพยานหลักฐานแทน ให้ศาลที่รับประเด็นมีอำนาจและหน้าที่ดังศาลเดิม รวมทั้งมีอำนาจส่งประเด็นต่อไปยังศาลอื่นได้
ภาย ใต้บังคับมาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๒ ทวิ ให้ส่งสำนวนหรือสำเนาฟ้อง สำเนาคำให้การและเอกสารหรือของกลางเท่าที่จำเป็นให้แก่ศาลที่รับประเด็น เพื่อสืบพยานหลักฐาน หากจำเลยต้องขังอยู่ในระหว่างพิจารณาให้ผู้คุมขังส่งตัวจำเลยไปยังศาลที่รับ ประเด็น แต่ถ้าจำเลยในกรณีตามมาตรา ๑๗๒ ทวิ ไม่ติดใจไปฟังการพิจารณาจะยื่นคำถามพยานหรือคำแถลงขอให้ตรวจพยานหลักฐานก็ ได้ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานไปตามนั้น
เมื่อสืบพยานหลักฐานตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จสิ้นแล้ว ให้ส่งถ้อยคำสำนวนพร้อมทั้งเอกสารหรือของกลางคืนศาลเดิม

            โดยหลักต้องอยู่ภายใต้มาตรา ๑๗๒ ทวิ คือต้องกระทำต่อหน้าจำเลย เช่น หากต้องสืบพยานที่ศาลแม่ฮ่องสอน ในการสืบพยานศาลต้องส่งจำเลยไปที่ศาลแม่ฮ่องสอน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๗๒ ทวิ เช่น คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน ๑๐ ปี และจำเลยมีทนายความ จำเลยมีสิทธิที่จะไปฟังการพิจาณาหรือไม่ก็ได้ หากจำเลยไปศาลก็ต้องส่งจำเลยไป เป็นต้น

มาตรา ๒๓๗ ทวิ การสืบพยานบุคคลล่วงหน้าก่อนฟ้องคดี
มาตรา ๒๓๗ ทวิ ก่อน ฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือ ทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า พนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคำร้องขอจากผู้เสียหายหรือจากพนักงานสอบ สวน จะยื่นคำร้องโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิด และผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการนำตัวผู้นั้นมาศาล หากถูกควบคุมอยู่ในอำนาจของศาล ให้ศาลเบิกตัวผู้นั้นมาพิจารณาต่อไป
เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลสืบพยานนั้นทันที ในการนี้ ผู้ต้องหาจะซักค้านหรือตั้งทนายความซักค้านพยานนั้นด้วยก็ได้
ใน กรณีตามวรรคสอง ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ต้องหานั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ซึ่งหากมีการฟ้องคดีจะเป็นคดีซึ่งศาลจะต้องตั้งทนายความให้ หรือจำเลยมีสิทธิขอให้ศาลตั้งทนายความให้ตามมาตรา ๑๗๓ ก่อนเริ่มสืบพยานดังกล่าว ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ในกรณีที่ศาลต้องตั้งทนายความให้ ถ้าศาลเห็นว่าตั้งทนายความให้ทันก็ให้ตั้งทนายความให้และดำเนินการสืบพยาน นั้นทันที แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่สามารถตั้งทนายความได้ทันหรือผู้ต้องหาไม่อาจตั้งทนาย ความได้ทัน ก็ให้ศาลซักถามพยานนั้นให้แทน
คำเบิกความของพยานดังกล่าวให้ศาลอ่านให้พยานฟัง หากมีตัวผู้ต้องหาอยู่ในศาลด้วยแล้ว ก็ให้ศาลอ่านคำเบิกความดังกล่าวต่อหน้าผู้ต้องหา
ถ้าต่อมาผู้ต้องหานั้นถูกฟ้องเป็นจำเลยในการกระทำความผิดอาญานั้น ก็ให้รับฟังคำพยานดังกล่าวในการพิจารณาคดีนั้นได้
ใน กรณีที่ผู้ต้องหาเห็นว่า หากตนถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว บุคคลซึ่งจำเป็นจะต้องนำมาสืบเป็นพยานของตนจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือ ทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า ผู้ต้องหานั้นจะยื่นคำร้องต่อศาลโดยแสดงเหตุผลความจำเป็น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานบุคคลนั้นไว้ทันทีก็ได้
เมื่อ ศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานนั้นและแจ้งให้พนักงานสอบสวนและพนักงาน อัยการที่เกี่ยวข้องทราบ ในการสืบพยานดังกล่าว พนักงานอัยการมีสิทธิที่จะซักค้านพยานนั้นได้ และให้นำความในวรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี



สาเหตุที่ขอได้
(๑)   พยานบุคคลจะต้องเดินทางไปนอกราชอาณาจักร
(๒)   พยานไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
(๓)   พยานเป็นบุคคลที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี
(๔)   มีเหตุอันสมควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
(๕)   มีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า
ข้อสังเกต (ปัญหา)
๑.      หากยังจับกุมตัวผู้ต้องหาไม่ได้หรือยังไม่ทราบตัวผู้ต้องหา พนักงานอัยการจะขอศาลสืบพยานไว้ก่อนฟ้องคดีได้หรือไม่ ?
·         เห็นว่าในวรรคแรกตอนท้าย...ได้ความว่า แม้ไม่มีตัวผู้ต้องหาก็ขอได้ เพราะหากมีตัวต้องนำมา แต่หากไม่มีตัวก็ไม่ต้องนำมา และในวรรคสี่ ...หากคดีมีผู้ต้องหาอยู่ก็ให้อ่านให้ผู้ต้องหาฟังด้วย แสดงว่า หากไม่มีผู้ต้องหาก็ไม่ต้องอ่านต่อหน้าผู้ต้องหา
·         ดังนั้น การสืบพยานบุคคลล่วงหน้าสามารถสืบพยานลับหลังคู่ความ (จำเลย) ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๘๐/๒๕๔๗ ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุดังที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก พนักงานอัยการย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งสืบพยานนั้นไว้ทันที ก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกรณีที่ผู้ที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่หรือไม่ ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ วรรคสี่ ก็ให้ศาลสามารถมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานและอ่านคำเบิกความของพยานให้พยานฟัง นั้นฟังได้แม้ผู้ต้องหาจะไม่ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัวอยู่
พิจารณา
·         มีการค้นพบตัวคนต่างด้าวในบ้านของผู้ต้องหา
·         ยังจับผู้ต้องหาไม่ได้ แต่ต้องผลักดันให้ชาวต่างด้าวกลับประเทศ
·         ศาลฎีกา วางหลักว่าสามารถยื่นคำร้องให้สืบพยานทันทีได้ แม้ไม่มีตัวผู้ต้องหาอยู่

๒.      กรณีการสืบพยานล่วงหน้า สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้หรือไม่ ?
            ตามมาตรา ๒๓๗ ทวิ วรรคห้า  “ถ้าต่อมาผู้ต้องหานั้นถูกฟ้องเป็นจำเลยในการกระทำผิดอาญานั้น ก็ให้รับฟังคำพยานดังกล่าวในการพิจารณาคดีนั้นได้”
๓.      หากมีจำเลยหลายคนและถูกจับได้ไม่พร้อมกัน และได้มีการสืบพยานไว้ล่วงหน้าแล้ว ปรากฏว่าต่อมาภายหลังสามารถจับกุมจำเลยเพิ่มได้อีก ศาลจะรับฟังคำพยานที่สืบไว้ก่อนล่วงหน้าได้หรือไม่  :  ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๒๗๒/๒๕๕๔ (หาไม่เจอ)
·         การสืบพยานล่วงหน้านำมาใช้กับพยานอื่น  ๆ นอกจากพยานบุคคลได้หรือไม่ ?
          ตอบว่า ได้ ดูมาตรา ๒๓๗ ตรี
มาตรา ๒๓๗ ตรี ให้นำความในมาตรา ๒๓๗ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่กรณี การสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ และพยานหลักฐานอื่น และแก่กรณีที่ได้มีการฟ้องคดีไว้แล้วแต่มีเหตุจำเป็นที่ต้องสืบพยานหลักฐาน ไว้ก่อนถึงกำหนดเวลาสืบพยานตามปกติตามมาตรา ๑๗๓/๒ วรรคสองด้วย
ใน กรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอัน สำคัญในคดีได้ หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากมีการเนิ่นช้ากว่าจะนำพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อันสำคัญมาสืบในภายหน้า พยานหลักฐานนั้นจะสูญเสียไปหรือเป็นการยากแก่การตรวจพิสูจน์ ผู้ต้องหาหรือพนักงานอัยการโดยตนเองหรือเมื่อได้รับคำร้องจากพนักงานสอบสวน หรือผู้เสียหาย จะยื่นคำร้องขอ ให้ศาลสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามความในมาตรา ๒๔๔/๑ ไว้ก่อนฟ้องก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๓๗ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


การจัดหาทนายความให้จำเลย
          มาตรา ๑๗๓  ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
          ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามคำให้การจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
หลักเกณฑ์
๑.      คดีที่มีความร้ายแรง (ประหารชีวิต) หรือคดีที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ศาลต้องถามจำเลย และต้องจัดหาทนายความให้จำเลยหากจำเลยไม่มี หากไม่จัดให้ถือว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ หากศาลต้นพบเองก็เพิกถอนเองตาม มาตรา ๒๗ ป.วิ.พ. ประกอบ มาตรา ๑๕ ป.วิ.อ. แต่หากเป็นศาลสูงพบต้องใช้ มาตรา ๒๐๘(๒) ให้พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
๒.      คดีธรรมดา (อัตราโทษจำคุก) มีสองคำถามดังนี้
·         มีทนายความหรือไม่ ?
·         ต้องการทนายความหรือไม่ ?



(รายละเอียดติดตามตอนต่อไปนะครับ..)


[1] อ.ธานี อธิบายว่า ตามมาตรฐานสากล สิ่งที่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยนั้นเฉพาะแต่การสืบพยานเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการพิจารณาด้วย ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายไทย ในมาตรา ๑๗๒ วรรคแรก ให้หมายความรวมทั้งการพิจารณาและการสืบพยาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น